Translate

วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก


รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก
ความหมายของรัฐศาสตร์
รัฐศาสตร์ตามรูปศัพท์ในทางภาษาอังกฤษใช้คำว่า Political Science มีคำที่ใช้เป็นไวพจน์ซึ่งกันและกัน และมีความหมายใกล้เคียงกันคือ Politics และ Government ซึ่งแปลว่า การเมืองและ การปกครอง
คำว่า รัฐศาสตร์ที่ใช้ในภาษาอังกฤษว่า Political Science มาจากภาษาเยอรมัน คือ สตาตสวิสเซนชาฟต์ (STAATSWISENCHAFT) แปลตามตัวอักษรว่า ศาสตร์แห่งรัฐโดยคำว่า “STAAT” แปลว่า รัฐและ “SWISSENCHAFT” แปลว่า วิทยาการซึ่งเพิ่งมีขึ้นในศตวรรษที่ 18 และ 19 คือประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา
รัฐศาสตร์ (Political Science) ตามรูปศัพท์เป็นภาษาสันสกฤต ภาษาบาลี ใช้คำว่า รัฐปสาสนะคำว่า รัฐในภาษาบาลีหมายถึง ราชธานีหรือ พระนครทั้งนี้รวมถึงทั้งด้านภูมิศาสตร์และด้านประชากรที่อยู่รวมกันภายในรัฐด้วย
คำว่า ศาสตร์หรือ สาสนะหมายถึง คำสอน หรือวิทยาการความรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อรวมสองศัพท์เข้าด้วยกัน จึงเป็น รัฐศาสตร์หมายถึง ศาสตร์หรือคำสอนเกี่ยวกับแคว้น ประเทศ เมือง หรือนคร ซึ่งรวมถึงองค์ประกอบของรัฐ ได้แก่ พลเมือง ผู้ปกครอง อาณาเขต และอำนาจอธิปไตยด้วย
พระพุทธดำรัสที่แสดงถึงอำนาจการปกครอง คือ อะหัง ภิกขุสังฆัง ปริหริสสามิเราจะปกครองสงฆ์ (หมู่คณะหรือสังคมภิกษุทั้งหมด) และ ภิกษุทั้งหลาย ในกาลล่วงไปแห่งเรา (พระพุทธเจ้า) พระธรรมวินัยจักเป็นศาสดาของเธอแสดงถึงกฎระเบียบและหลักการในการปกครองสงฆ์ของพระองค์
การปกครองในทางพระพุทธศาสนาจะมุ่งในการปกครอง 3 ระดับ คือ
1. ระดับต้น หมายถึงระดับตนเอง คือ ควบคุมรักษาตนเอง
2. ระดับกลาง หมายถึงระดับคนอื่น คือ สมาคม องค์กร ในการปฏิสัมพันธ์
3. ระดับสูง หมายถึงระดับสังคม ประเทศชาติ นานาชาติ และระดับโลก คือ มนุษยชาติทั้งมวล ให้ได้รับประโยชน์และความสงบสุขในการอยู่ร่วมกัน[1]
เมื่อว่าตามคำนิยามและหน้าที่ของนักบริหารดังกล่าวมานี้ เราต้องยอมรับว่า หลังจากตรัสรู้ในวันเพ็ญกลางเดือน 6 ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ตามลำพังพระองค์เดียว ในขั้นนี้ยังไม่มีการบริหารในพระพุทธศาสนา การบริหารเกิดขึ้น เมื่อมีสมาชิกใหม่เข้ามาในพระพุทธศาสนา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 2 เดือน นั่นคือ เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา แก่พระปัญจวัคคีย์ในวันอาสาฬหบูชา ท่านอัญญาโกณฑัญญะได้ด้วงตาเห็นธรรมแล้วขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงประทานการอุปสมบทแก่ท่านอัญญาโกณฑัญญะด้วยพุทธดำรัสว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด
เราจะเห็นไดว่าในพุทธดำรัสนี้ มีการกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการอุปสมบทไว้ชัดเจนว่า เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิดนั่นหมายถึงว่า มีการกำหนดวัตถุประสงค์ส่วนตัวเพื่อให้สมาชิกใหม่ได้ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน พระพุทธเจ้าทรงประสงค์ให้ผู้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนายุดเป้าหมายเดียวกัน คือ มุ่งปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นทุกข์ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในโอกาสอื่นว่า พรหมจรรย์ (การบวช) นี้ไม่ได้มีไว้สำหรับแสวงหาลาภสักการะและคำสรรเสริญ ไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อศีล สมาธิ และปัญญาเท่านั้น แต่มีไว้เพื่อเจโตวิมุตติหรือความหลุดพ้นแห่งจิต (ม. มู. 12/352/733)
การถือเอาความหลุดพ้นทุกข์เป็นวัตถุหระสงค์ส่วนตัวสำหรับสมาชิกทุกคนในพระพุทธศาสนานี้ใช้ได้กับผู้ยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่เมื่อสมาชิกนั้นเป็นพระอรหันต์ได้เจโตวิมุตติ หลุดพ้นทุกข์แล้ววัตถุประสงค์ของเขาก็เปลี่ยนไป นั่นคือแทนที่จะดำเนินชีวิตเพื่อความหลุดพ้นทุกข์ส่วนตัว พระอรหันต์จะดำเนินชีวิตเพื่อช่วยคนอื่นให้หลุดพ้นทุกข์ ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อพ้นพรรษาแรก มีภิกษุผู้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ 60 รูป พระพุทธเจ้าทรงวางแฟนเพื่อประกาศพระศาสนาแล้วส่งพระสาวกเหล่านั้นให้แยกย้ายกันไปในทิศทางต่าง ๆ ด้วยพระดำรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าไปทางเดียวกันสองรูป...แม้เราเองก็จะไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม” (วิ.มหา. 1/32/39)
ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ประสบความสำเร็จในการประกาศพระศาสนา โดยที่หาผู้บรรลุธรรมตามอย่างพระพุทธองค์ไม่ได้สักคนเดียว พระพุทธเจ้าก็เป็นเพียงพระปัจเจกพุทธะ คือ ผู้ตรัสรู้เฉพาะตนที่ไม่สามารถสอนคนอื่นให้ตรัสรู้ตามได้ จึงไม่ใช่นักบริหาร แต่เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงสามารถสอนให้คนอื่นตรัสรู้ตามได้พระองค์จึงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะผู้สามารถจัดตั้งองค์กรพระพุทธศาสนา และเป็นนักบริหารกิจการพระศาสนา
ในการวางแผนเพื่อประกาศพระศาสนาดังกล่าวมานั้น พระพุทธเจ้าทรงกำหนดวัตถุประสงค์สำหรับให้สมาชิกในองค์กรทุกคนถือปฏิบัติเป็นแบบเดียวกัน นั้นคือให้สมาชิกยึดความหลุดพ้นทุกข์ส่วนตัวหรือความหลุดพ้นทุกข์ของคนอื่นเป็นเป้าหมายของการดำเนินชีวิต การปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นทุกข์ส่วนตัว เรียกว่า อัตตหิตสมบัติ การปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นทุกข์ของคนอื่น เรียกว่า ปรหิตปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าทรงมีทั้งอัตตหิตสมบัติที่เกอดจากพระปัญญาคุณและปรหิตปฏิบัติที่เกิดจากพระกรุณาคุณ จึงทรงวางรากฐานในการประกาศพระศาสนาด้วยการแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระอรหันต์ 1,250 รูป ในวันมาฆบูชา หลังจากตรัสรู้ได้ 9 เดือน
โอวาทปาฏิโมกข์ หมายถึง คำสอนที่เป็นหลักสำคัญในการเผยแผ่ในพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระอรหันต์เพื่อให้ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไป ในโอวาทปาฏิโมกข์นี้ มีการกำหนดให้นิพพานหรือความหลุดพ้นทุกข์เป็นเป้าหมายสูงสุดในการปฏิบัติธรรม แนวทางปฏิบัติธรรมให้ยึดหลัก 3 ประการ คือ ไม่ทำชั่วทั้งปวง ทำดีให้ถึงพร้อม และทำจิตใจให้ผ่องใส นอกจากนี้ยังกำหนดวิธีการประกาศพระพุทธศาสนาว่า ให้เผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยขันติหรือความอดทน ไม่ให้ใช้การว่าร้ายหรือการเข่นฆ่าประหัตประหาร เพื่อบีบบับคับให้คนหันมานับถือพระพุทธศาสนา (ขุ.ธ. 25/24/39)[2]
กำเนิดรัฐจากอัคคัญญสูตรซึ่งเป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา  อาจแยกพิจารณาเป็นขั้นตอนดังนี้
1. โลกเกิดจากธาตุ  ซึ่งเดิมมีความร้อนจัด  ต่อมาค่อย ๆ เย็นลงและเป็นโลก  มีแผ่นดินและพื้นน้ำ  มีอากาศมีฤดูกาล
2. ต่อจากน้ำจึงมีวิวัฒนาการของสิ่งมีชิวิตเกิดขึ้น  มีพืช สัตว์ และมนุษย์ตามลำดับมนุษย์ต่าง ๆ เหล่านั้นในขั้นแรกมิได้มีผิวพรรณและเพศผิดแผกต่างกัน  ต่างดำรงชีพอยู่บนปัจจัยพื้นฐานคือ อาหาร ซึ่งได้จากพื้นดิน อันอุดมสมบูรณ์ และเป็นทรัพยากรธรรมชาติส่วนรวม  มนุษย์ยังไม่รู้จักสะสม  ความคิดเรื่องทรัพย์สินส่วนบุคคลยังไม่มีมนุษย์มีความดีพร้อมปราศจากความขัดแย้ง
3. มนุษย์เริ่มสูญเสียความดี  เมื่อความแตกต่างทางกายภาพและผิวพรรณเกิดขึ้น  จึงเกิดการเหยียดผิวพรรณ  เกิดความรู้สึกปฏิพัทธ์ในเพศตรงกันข้าม  ความรู้สึกเป็นพรรคเป็นฝักเป็นฝ่ายเกิดขึ้น
4. การสืบพันธุ์เป็นสัญชาติญาณที่สำคัญของมนุษย์  และเป็นเหตุให้เกิดครอบครัวซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสังคม  เมื่อเกิดครอบครัวแล้ว  ทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันเฉพาะครอบครัวจึงเกิดความคิดที่จะสะสม  ต้องจัดสรรแบ่งปันปักเขตที่ดินอันเป็นทรัพยากร ที่มาของอาหารความคิดและการปฏิบัติเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคลเกิดขึ้น
5. เมื่อสังคมเติบโตขึ้น  มนุษย์มีมากขึ้น  ภาวะที่แท้จริงของมนุษย์คือ  มนุษย์มีดีมีชั่ว  ก็ปรากฏชัดขึ้นอันเนื่องมาจากความโลภ  ความเห็นแก่ตัว  ความเกียจคร้าน  แม้จะมีการแบ่งปันจับจองทรัพยากรธรรมชาติเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลแล้วยังมีคนโลภหรือเกียจคร้าน  อยากได้ของผู้อื่นเขา  จึงเกิดการลักขโมย  การพูดปด  และนำไปสู่การทะเลาะวิวาท  ผลคือทำให้สังคมปั่นป่วนระส่ำระสาย  ยิ่งไม่มีกฎระเบียบทางสังคมกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไว้  ไม่มีผู้ใช้อำนาจบังคับ  ทำให้สังคมไม่น่าอยู่และผู้คนต้องเดือดร้อน  ผู้มีกำลังมากไร้คุณธรรมก็เบียดเบียนรังแกผู้อ่อนแอกว่า
6. ในสภาวะธรรมชาติมนุษย์  ต้องการความสุขความสงบ ความเดือดร้อนระส่ำระสายจึงไม่ใช่ความต้องการของมนุษย์  มนุษย์จึงร่วมในกันหาทางแก้ปัญหาโดยการขอให้ผู้มีความสามารถเข้มแข็ง ทำหน้าที่ขจัดปัดเป่าความระส่ำระสายในสังคม  โดยให้อำนาจลงโทษผู้กระทำความผิดในสังคม  เป็นผู้ปกครองคุ้มครองทรัพย์สินไร่นา และชีวิตเป็นผู้ตัดสินในกรณีมีความขัดแย้งในสังคม
7. ผู้ที่ได้รับเลือกนี้มีฐานะเป็นหัวหน้า  เป็นตำแหน่ง มหาชนสมมติ”  เพราะเป็นผู้ที่ได้รับเลือกจากประชาชน  บางครั้งเรียกว่า ราชา”  เพราะเป็นผู้ที่ทำความสุขใจดีใจให้ผู้อื่น  หรือบางครั้งเรียกว่า กษัตริย์”  เพราะเป็นผู้ที่คุ้มครอง ปกป้อง ไร่นาของประชาชน  ผู้ปกครองหรือหัวหน้าจะอยู่ในตำแหน่งนานตราบเท่าที่ไม่ใช้อำนาจในทางที่ผิด  หรือเป็นทรราชย์  หากกระทำผิด  ประชาชนมีสิทธิถอนหรือฆ่าเสียได้[3]

หลักการปกครองตนของผู้ปกครอง
ราชธรรม 10 หรือ ทศพิธราชธรรม (ธรรมของพระราชา, กิจวัตรที่พระเจ้าแผ่นดินควรประพฤติ, คุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง, ธรรมของนักปกครอง — virtues or duties of the king; royal virtues; virtues of a ruler)
       1. ทาน (การให้ คือ สละทรัพย์สิ่งของ บำรุงเลี้ยง ช่วยเหลือประชาราษฎร์ และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ — charity; liberality; generosity)
       2. ศีล (ความประพฤติดีงาม คือ สำรวมกายและวจีทวาร ประกอบแต่การสุจริต รักษากิตติคุณ ให้ควรเป็นตัวอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์ มิให้มีข้อที่ใครจะดูแคลน — high moral character)
       3. ปริจจาคะ (การบริจาค คือ เสียสละความสุขสำราญ เป็นต้น ตลอดจนชีวิตของตน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง — self-sacrifice)
       4. อาชชวะ (ความซื่อตรง คือ ซื่อตรงทรงสัตย์ไร้มารยา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน — honesty; integrity)
       5. มัททวะ (ความอ่อนโยน คือ มีอัธยาศัย ไม่เย่อหยิ่งหยาบคายกระด้างถือองค์ มีความงามสง่าเกิดแต่ท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่มนวล ละมุนละไม ให้ได้ความรักภักดี แต่มิขาดยำเกรง — kindness and gentleness)
       6. ตปะ (ความทรงเดช คือ แผดเผากิเลสตัณหา มิให้เข้ามาครอบงำย่ำยีจิต ระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและความปรนเปรอ มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ หรืออย่างสามัญ มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียร ทำกิจให้บริบูรณ์ — austerity; self-control; non-indulgence)
       7. อักโกธะ (ความไม่โกรธ คือ ไม่กริ้วกราด ลุอำนาจความโกรธ จนเป็นเหตุให้วินิจฉัยความและกระทำกรรมต่างๆ ผิดพลาดเสียธรรม มีเมตตาประจำใจไว้ระงับความเคืองขุ่น วินิจฉัยความและกระทำการด้วยจิตอันราบเรียบเป็นตัวของตนเอง — non-anger; non-fury)
       8. อวิหิงสา (ความไม่เบียดเบียน คือ ไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น เก็บภาษีขูดรีด หรือ เกณฑ์แรงงานเกินขนาด ไม่หลงระเริงอำนาจ ขาดความกรุณา หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาชญาแก่ประชาราษฎร์ผู้ใด เพราะอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง — non-violence; non-oppression)
       9. ขันติ (ความอดทน คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำ ถึงจะลำบากกายน่าเหนื่อยหน่ายเพียงไร ก็ไม่ท้อถอย ถึงจะถูกยั่วถูกหยันด้วยคำเสียดสีถากถางอย่างใด ก็ไม่หมดกำลังใจ ไม่ยอมละทิ้งกรณีย์ที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม — patience; forbearance; tolerance)
       10. อวิโรธนะ (ความไม่คลาดธรรม คือ วางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรม คงที่ ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหวเพราะถ้อยคำที่ดีร้าย ลาภสักการะ หรืออิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ใดๆ สติมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรม คื ความเที่ยงธรรม ก้ดี นิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ก็ดี ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป — non-opposition; non-deviation from righteousness; conformity to the law)
       ราชธรรม 10 นี้ พึงจดจำง่ายๆ โดยคาถาในบาลี ดังนี้
           ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ
           อกฺโกธํ อวิหึสญฺจ ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ.
ขุ.ชา. 28/240/86.[4]

กุศลกรรมบถ 10 (ทางแห่งกุศลกรรม, ทางทำความดี, กรรมดีอันเป็นทางนำไปสู่สุคติ — wholesome course of action) ว่าโดยหัวข้อย่อ ดังนี้
ก. กายกรรม 3 (การกระทำทางกาย — bodily action)
1. ปาณาติปาตา เวรมณี* (เว้นจากปลงชีวิต — abstention from killing)
*เวรมณี แปลว่า เจตนาที่ทำให้เว้น หรือ เจตนาที่ตรงข้าม เมื่อจะแปลให้เต็มความ จึงควรแปลว่า การกระทำที่ว่างจากการคิดเบียดเบียน หรือ การทำดีที่ตรงข้ามกับการเบียดเบียนชีวิต ดังนี้เป็นต้น
2. อทินนาทานา เวรมณี (เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้โดยอาการขโมย — abstention from taking what is not given)
3. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี (เว้นจากประพฤติผิดในกาม — abstention from sexual misconduct)
ข. วจีกรรม 4 (การกระทำทางวาจา — verbal action)
4. มุสาวาทา เวรมณี (เว้นจากพูดเท็จ — abstention from false speech)
5. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี (เว้นจากพูดส่อเสียด — abstention from tale-bearing)
6. ผรุสาย วาจาย เวรมณี (เว้นจากพูดคำหยาบ — abstention from harsh speech)
7. สัมผัปปลาปา เวรมณี (เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ — abstention from vain talk or gossip)
ค. มโนกรรม 3 (การกระทำทางใจ — mental action)
8. อนภิชฌา (ความไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของเขา — non-covetousness)
9. อพยาบาท (ความไม่คิดร้ายผู้อื่น — non-illwill)
10. สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ ถูกต้องตามคลองธรรม — right view)
ที.ปา. 11/360/284; 471/337.[5]

จักรวรรดิวัตร 5, 12 (วัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ, พระจริยาที่พระจักรพรรดิพึงทรงบำเพ็ญสม่ำเสมอ, ธรรมเนียมการทางบำเพ็ญพระราชกรณีย์ของพระเจ้าจักรพรรดิ, หน้าที่ของนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ — duties of a universal king or a great ruler)
1. ธรรมาธิปไตย (ถือธรรมเป็นใหญ่ เคารพนับถือบูชายำเกรงธรรม ยึดธรรมเป็นหลัก เป็นธงชัย เป็นธรรมาปิไตย — supremacy of the law of truth and righteousness; rule of the Dhamma; rule of the true law) (1) และ
2. ธรรมิการักขา (จัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองอันชอบธรรมและเป็นธรรม — provision of the right watch, ward an protection)
       ก.  อันโตชน (แก่ชนภายใน ตั้งแต่พระมเหสี โอรส ธิดา จนถึงผู้ปฏิบัติราชการในพระองค์ทั้งหมด คือ คนในปกครองส่วนตัว ตั้งแต่บุตรธิดาเป็นต้นไป ด้วยให้การบำรุงเลี้ยงอบรมสั่งสอนเป็นต้น ให้อยู่โดยเรียบร้อยสงบสุข และมีความเคารพนับถือกัน — for one’s own folk) (2)
       ข.  พลกาย (แก่กองทัพ คือ ปวงเสนาข้าทหาร, ข้าราชการฝ่ายทหาร — for the army; the arms-forces; military personnel) (3)
       ค.  ขัตติยะ (แก่กษัตริย์ทั้งหลายผู้อยู่ในพระบรมเดชานุภาพ, เจ้าเมืองขึ้น, ปัจจุบันสงเคราะห์ชนชั้นปกครองและนักบริหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลาย, ข้าราชการฝ่ายปกครอง — for colonial kings; administrative officers) (4)
       ง.  อนุยนต์ (แก่ผู้ตามเสด็จ คือ ราชบริพารทั้งหลาย, ปัจจุบันควรสงเคราะห์ข้าราชการฝ่ายพลเรือนเข้าทั้งหมด — for the royal dependants; civil servants) (5)
       จ.  พราหมณคฤหบดี (แก่ชนเจ้าพิธี เจ้าตำรา พ่อค้า เจ้าไร่เจ้านา คือ ครูบาอาจารย์ นักวิชาการ หมอ พ่อค้า ผู้ประกอบอาชีพวิชพต่างๆ และเกษตรกร ด้วยช่วยจัดหาทุนและอุปกรณ์เป็นต้น — for brahmins and householders; the professional, traders and the agricultural) (6)
       ฉ.  เนคมชานบท (แก่ชาวนิคมชนบท คือ ราษฎรทั้งปวงทุกท้องถิ่นตลอดถึงชายแดนทั่วไปไม่ทอดทิ้ง — for town and country dwellers; townsmen and villagers; upcountry people) (7)
       ช.  สมณพราหมณ์ (แก่พระสงฆ์และบรรพชิตผู้ทรงศีลทรงคุณธรรม — for the religious) (8)
       ญ. มิคปักษี (แก่มฤคและปักษี คือ สัตว์อันควรสงวนทั้งหลาย — for beasts and birds) (9)
3. อธรรมการนิเสธนา (ห้ามกั้น มิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในพระราชอาณาเขต คือ จัดการป้องกัน แก้ไข มิให้มีการกระทำความผิดความชั่วร้ายเดือดร้อนเกิดขึ้นในบ้านเมือง — to let no wrongdoing prevail in the kingdom) (10)
4. ธนานุประทาน (ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ชนผู้ไร้ทรัพย์ มิให้มีคนขัดสนยากไร้ในแว่นแคว้น — to let wealth be given or distributed to the poor) (11)
5. ปริปุจฉา (ปรึกษาสอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมา อยู่เสมอตามกาลอันควร เพื่อให้รู้ชัดการอันดีชั่ว ควรประกอบหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขหรือไม่ แล้วประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้อง ข้อนี้ปัจจุบันสงเคราะห์นักปราชญ์นักวิชาการผู้ทรงคุณธรรมเข้าด้วย — to go from time to time to see and seek advice from the men of religious life who maintain high moral standards; to have virtuous counsellors and seek after greater virtue) (12)
จักรวรรดิวัตรนี้ มาใน จักกวัตติสูตร ตามที่มาที่อ้าง ในพระบาลี คือไตรปิฎก ท่านไม่ระบุจำนวนข้อไว้ แต่นับตามที่ตรัสไว้ เป็นหลักการที่ยึดถือหนึ่งข้อ และหลักปฏิบัติ 4 ข้อ จึงรวมเป็น 5 ข้อ อย่างไรก็ดี ข้อย่อยที่แยกออกไปจากข้อ 2 (ธรรมิกรักขา) แต่ละอย่าง ในชั้นอรรถกถาคงเห็นว่ามีความสำคัญมาก และมีรายละเอียดวิธีปฏิบัติจำเพาะต่างกันออกไป จึงจัดเป็นวัตรแต่ละข้อเท่ากันหมด นับได้ 12 ข้อ ตามตัวเลขในวงเล็บข้างหลัง
แต่ใน อรรถกถาแห่งพระสูตรนี้เอง (ที.อ. 3/46) ท่านจัดต่างออกไปดังนี้
1. อนฺโตชนสฺมึ พลกายสฺมึ (สงเคราะห์ชนภายใน และพลกายกองทหาร)
2. ขตฺติเยสุ (สงเคราะห์กษัตริย์เมืองขึ้นทั้งหลาย)
3. อนุยนฺเตสุ (สงเคราะห์เหล่าเชื้อพระวงศ์ ผู้ตามเสด็จเป็นราชบริพาร)
4. พฺราหฺมณคหปติเกสุ (คุ้มครองพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย)
5. เนคมชานปเทสุ (คุ้มครองชาวราษฎรพื้นเมืองทั้งหลาย)
6. สมณพฺราหฺมเณสุ (คุ้มครองเหล่าสมณพราหมณ์)
7. มิคปกฺขีสุ (คุ้มครองเนื้อนกที่เอาไว้สืบพันธุ์)
8. อธมฺมการปฏิกฺเขโป (ห้ามปรามมิให้มีการประพฤติการอันผิดธรรม)
9. อธนานํ ธนานุปฺปทานํ (ทำนุบำรุงผู้ขัดสนไร้ทรัพย์)
10. สมณพฺราหฺมเณ อุปสงฺกมิตฺวา ปญฺหาปุจฺฉนํ (เข้าไปหาและสอบถามปัญหากะสมณพราหมณ์)
11. อธมฺมราคสฺส ปหานํ (เว้นความกำหนัดในกามโดยอาการไม่เป็นธรรม)
12. วิสมโลภสฺส ปหานํ (เว้นโลภกล้า ไม่เลือกควรไม่ควร)
ที่จำกันมาส่วนมาก ก็ถือตามนัยอรรถกถานี้ อย่างไรก็ดี ตามนัยนี้ ท่านไม่นับข้อธรรมาธิปไตย เข้าในจำนวน 12 ข้อ และเพิ่มข้อ 11, 12 เข้ามาใหม่ ซึ่งไม่มีมาในบาลีเดิม สำหรับข้อ 11,12 นี้ โดยเหตุผลน่าจะมีอยู่แล้วในหลักทศพิธราชธรรม
ที.ปา. 11/35/65.[6]

อปริหานิยสูตร
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม ๖ ประการนี้ ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้ไม่ชอบการงาน ๑ ความเป็นผู้ไม่ชอบคุย ๑ ความเป็นผู้ไม่ชอบหลับ ๑ ความเป็นผู้ไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ๑ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ ความเป็นผู้มีมิตรดี ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ๖ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาล ไม่เสื่อมแล้วจากกุศลธรรม ชนเหล่านั้นทั้งปวง ก็ไม่เสื่อมแล้วจากกุศลธรรม เพราะธรรม ๖ ประการนี้แล ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาล จักไม่เสื่อมจากกุศลธรรม ชนเหล่านั้นทั้งปวง ก็จักไม่เสื่อมจากกุศลธรรมเพราะธรรม ๖ ประการนี้แล ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบัน ย่อมไม่เสื่อมจากกุศลธรรม ชนเหล่านั้นทั้งปวงก็ย่อมไม่เสื่อมจากกุศลธรรมเพราะธรรม ๖ ประการนี้แล ฯ[7]

หลักการปกครองประชาชน
สังคหวัตถุ 4 (ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยว คือยึดเหนี่ยวใจบุคคล และประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี, หลักการสงเคราะห์ - bases of sympathy; acts of doing favors; principles of service; virtues making for group integration and leadership)
1. ทาน (การให้ คือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน ช่วยเหลือกันด้วยสิ่งของตลอดถึงให้ความรู้และแนะนำสั่งสอน - giving; generosity; charity)
2. ปิยวาจา หรือ เปยยวัชชะ (วาจาเป็นที่รัก วาจาดูดดื่มน้ำใจ หรือวาจาซาบซึ้งใจ คือกล่าวคำสุภาพไพเราะอ่อนหวานสมานสามัคคี ให้เกิดไมตรีและความรักใคร่นับถือ ตลอดถึงคำแสดงประโยชน์ประกอบด้วยเหตุผลเป็นหลักฐานจูงใจให้นิยมยอมตาม - kindly speech; convincing speech)
3. อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์ คือ ขวนขวายช่วยเหลือกิจการ บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ตลอดถึงช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางจริยธรรม - useful conduct; rendering services; life of service; doing good)
4. สมานัตตตา* (ความมีตนเสมอ** คือ ทำตนเสมอด้วยปลาย ปฏิบัติสม่ำเสมอกันในชนทั้งหลาย และเสมอในสุขทุกข์โดยร่วมรับรู้ร่วมแก้ไข ตลอดถึงวางตนเหมาะแก่ฐานะ ภาวะ บุคคล เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม ถูกต้องตามธรรมในแต่ละกรณี - even and equal treatment; equality consisting in impartiality, participation and behaving oneself properly in all circumstances)[8]

อคติสูตรที่ ๓
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอคติ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน บุคคลย่อมถึงฉันทาคติ ย่อมถึงโทสาคติ ย่อมถึงโมหาคติ ย่อมถึงภยาคติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอคติ ๔ ประการนี้แล ฯ
ผู้ใดประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความหลง ความกลัว ยศของผู้นั้นย่อมเสื่อม เหมือนพระจันทร์ข้างแรมฉะนั้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไม่ถึงอคติ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน บุคคลย่อมไม่ถึงฉันทาคติ ย่อมไม่ถึงโทสาคติ ย่อมไม่ถึงโมหาคติ ย่อมไม่ถึงภยาคติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไม่ถึงอคติ ๔ ประการนี้แล ฯ
ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความหลง ความกลัว ยศของผู้นั้น ย่อมเต็มเปี่ยม ดุจพระจันทร์ข้างขึ้น ฉะนั้น ฯ[9]
อคติ 4 (ฐานะอันไม่พึงถึง, ทางความประพฤติที่ผิด, ความไม่เที่ยงธรรม, ความลำเอียง - wrong course of behavior; prejudice)
1. ฉันทาคติ (ลำเอียงเพราะชอบ - prejudice caused by love or desire; partiality)
2. โทสาคติ (ลำเอียงเพราะชัง - prejudice caused by hatred or enmity)
3. โมหาคติ (ลำเอียงเพราะหลง, พลาดผิดเพราะเขลา - prejudice caused by delusion or stupidity)
4. ภยาคติ (ลำเอียงเพราะกลัว - prejudice caused by fear)
ที.ปา. 11/176/196; 246/240;
องฺ.จตุกฺก. 21/17/23.[10]





[1]http://psiba.blogspot.com/2012/03/political-science-in-buddhist-approach.html
[2] http://sathlearner.blogspot.com/2007/05/blog-post.html
[3] http://kengkkoo.blogspot.com/2013/03/blog-post_7235.html
[4] พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (.. ปยุตฺโต)
[5] พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (.. ปยุตฺโต)
[6] พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (.. ปยุตฺโต)
[7] http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=22&A=7342&Z=7355
[8] พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (.. ปยุตฺโต)
[9] http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=21&A=470&Z=483
[10] พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (.. ปยุตฺโต)