Translate

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

วัดฉาง ต.บางปรอก อ.เมือง จ.ปทุมธานี




ประวัติวัดฉาง

ซุ้มหน้าวัดก่อนการบูรณะ

วัดฉางตั้งอยู่ที่บ้านฉาง ในเขตตำบลบ้านฉาง ด้านหน้าวัดมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน วัดฉางสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๖๐ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ โดยชาวมอญที่อพยพมาจากเมืองเมาะตะมะเป็นผู้สร้าง โดยสันนิษฐานว่า เมื่อชาวมอญได้อพยพมาอยู่ที่ตำบลนี้ ทางราชการได้ตั้ง “ฉาง” ขึ้นเพื่อเก็บข้าวและเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆไว้ต้อนรับครอบครัวชาวมอญอพยพจึงนิยมเรียกชื่อตำบลนี้ว่า “บ้านฉาง” เพื่อให้สอดคล้องกับที่ทางการตั้งฉางขึ้น เมื่อครอบครัวชาวมอญอพยพมาอยู่ร่วมกันมากขึ้น จึงได้สร้างวัดในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อบำเพ็ญกุศลตามประเพณีที่ตนเคยนับถือมา



ที่วัดฉางแห่งนี้มีพระวิหารเก่า เป็นวิหารขนาดเล็ก ก่ออิฐถือปูน มีประตูทางเข้าด้านเดียว มีหน้าต่างด้านละ ๒ ช่อง ประดับลายรดน้ำ สิ่งที่สำคัญของวิหารก็คือ ที่หน้าบันจะประดับด้วยลวดลายปูนปั้นที่งดงามอ่อนช้อย เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์ตอนต้น



นอกจากนี้ยังมีศาลาท่าน้ำ ซึ่งเป็นศาลาท่าน้ำทรงโปร่ง สร้างด้วยไม้หลังคาเป็นหน้าจั่วทรงปั้นหยา มุงด้วยกระเบื้องว่าว เชิงชายและกระดานคอสองเป็นไม้ฉลุลายที่สวยงามมาก ตัวเสาของอาคารทั้งหมดจะลบเหลี่ยมหัวเสา จะมีการประดับด้วยบัวโดยรอบ ระเบียงมีราวลูกกรงไม้ระแนงตีตามแนวนอนและแนวตั้ง




ภายในวัดฉางยังมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพเลื่อมใสของประชาชนในท้องถิ่นและบริเวณใกล้เคียงเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ สร้างจากสตางค์แดง มูลค่าเหรียญละ ๑ สตางค์ จำนวน ๘๔,๐๐๐ สตางค์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าได้สร้างพระพุทธรูปจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ หรือเท่ากับพระไตรปิฎกจำนวน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕ มีพุทธลักษณะสวยงามมาก สำหรับพระวิหารซึ่งสร้างพร้อมกับวัดฉาง ขณะนี้มีสภาพทรุดโทรมมาก[1]




รายนามเจ้าอาวาส

วัดฉางมีเจ้าอาวาสวัดในอดีต ปัจจุบัน ดังต่อไปนี้

o   พระอาจารย์ร่าย เป็นชาวรามัญ

o   พระครูปทุมเถระสถาน (บุญมี ผุพฺผรมฺโม)



o   พระอธิการพะอ๊อก ผุพฺพรมฺโม สกุลเดิม ควรนิยม
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๐ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๗ อายุ ๙๖ ปี พรรษา ๗๕


o   พระครูทองใบ อหึสโก สกุลเดิม ทวีลาภ
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗ ถึง พ.ศ. ๒๕๓๐ อายุ ๙๒ ปี พรรษา ๗๒


o   พระครูอนุกูลศาสนการ (เทิ้ม ฐิตจาโร) สกุลเดิม ราษฏร์ดุษฎี
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๐ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๑ อายุ ๘๔ ปี พรรษา ๕๒


o   พระครูวิภัชปทุมกิจ (วุฒิณา ปญฺญาวโร) สกุลเดิม ตะรุสานนท์
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑   ถึง ปัจจุบัน




สิ่งศักดิ์ภายในวัด

หลวงพ่อสตางค์แดง (บ้างก็เรียกหลวงพ่อแปดหมื่น) ปางสมาธิ สร้างจากเงินสตางค์แดงโบราณจำนวน ๘๔,๐๐๐ เหรียญ ตามจำนวนคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีจำนวน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพื่อเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองตลอดกาลนาน ผู้ที่มีศรัทธาจากที่ใกล้ที่ไกลได้เดินทางมากราบไหว้ขอพรกันอยู่เป็นประจำมิได้ขาด

ตามคำบอกเล่าของคนเก่าคนแก่เกี่ยวกับความเป็นมาของหลวงพ่อสตางค์แดงนี้ว่า แต่ก่อนนั้นยังไม่มีคนทราบว่ามีพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ ซึ่งคนที่พบเจอก็คือลูกศิษย์วัดในสมัยหลวงปู่พะอ๊อก (ซึ่งปัจจุบันศิษย์วัดคนนั้นก็ได้มาช่วยเหลือกิจการต่างๆของทางวัด) พระพุทธรูปองค์นี้เมื่อก่อนนั้นได้มีปูนพอกอยู่ทั้งองค์ จึงทำให้ไม่เป็นที่สังเกตุแก่คนทั่วไป การพอกปูนทั้งองค์พระพุทธรูปนั้นคาดว่าจะป้องกันการตัดเศียรพระไปขาย แต่ลูกศิษย์วัดได้เห็นรอยแตกของปูนจึงได้แกะปูนที่แตกออก และพบว่าพระพุทธรูปที่ตั้งอยู่ในศาลาสังกะสีเก่า ๆ นี้ ไม่ใช่พระพุทธรูปปูน แต่เป็นพระพุทธรูปเนื้อโลหะ จึงได้ไปบอกแก่หลวงปู่พะอ๊อกเจ้าอาวาสในสมัยนั้น ซึ่งหลวงปู่ก็พอทราบว่ามีพระพุทธรูปองค์นี้อยู่คู่กับวัดมาก่อนแล้วเช่นกัน แต่ไม่มีใครรู้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้เก็บไว้ที่ใด ต่อจากนั้นจึงได้นำพระพุทธรูปองค์นี้มาประดิษฐาน ณ หอสวดมนต์วัดฉางเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะบูชาเพื่อความเป็นศิริมงคลสืบไป



พระศรีสุวรรณอุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ปางลีลา ประดิษฐานอยู่หน้าวัด หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา อดีตเจ้าอาวาสคืออาจารย์เทิ้มและลูกศิษย์ ญาติโยมผู้มีศรัทธาได้ร่วมแรงร่วมใจกันหล่อพระองค์นี้ขึ้นมา



 เรื่องเล่าจากศิษยานุศิษย์

อดีตเจ้าอาวาสคือ พระครูปทุมเถระสถาน (บุญมี ผุพฺผรมฺโม) ท่านเป็นพระนักเทศน์ที่เก่งองค์หนึ่ง เทศน์ได้ทั้งภาษาไทยและภาษามอญ

อดีตเจ้าอาวาสคือ พระอธิการพะอ๊อก ผุพฺพรมฺโม ท่านเป็นพระที่เชี่ยวชาญในทางตำรายาโบราณเป็นอย่างมากในสมัยนั้น มีผู้มาขอความช่วยเหลือของท่านอยู่เสมอๆ



อดีตเจ้าอาวาสคือ พระครูทองใบ อหึสโก หรือ อาจารย์ใบ,หลวงปู่ใบ ท่านเป็นพระนักปฏิบัติกัมมัฏฐานที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ลูกศิษย์ลูกหาได้ให้ความเคารพหลวงปู่มาก ท่านจะไม่จับปัจจัยเลย คือเมื่อได้รับมาก็เก็บวางไว้ภายในกุฏิจนกระทั่งปลวกขึ้นปัจจัยหรือเงินเหล่านั้น และท่านยังสั่งสอนญาติโยมทั้งหลายให้ตั้งมั่นอยู่ในศีล ๕อยู่เสมอๆ และเรื่องที่น่าอัศจรรย์ก็คือ พระเครื่องของหลวงปู่ใบหากผู้ใดนำไปบูชาแล้ว ไปเล่นการพนัน ทำให้ผู้นั้นเสียการพนันกันมามากต่อมากนัก

อดีตเจ้าอาวาสคือ พระครูอนุกูลศาสนการ (เทิ้ม ฐิตจาโร) อาจารย์เทิ้มท่านเป็นเสือเก่ามาก่อนที่จะบวชเป็นพระ เมื่อบวชแล้วก็ศึกษาธรรมวินัยอย่างแตกฉานทั้งภาษาไทยและภาษามอญ มีผู้เปรียบท่านไว้ว่า “ ต้นคด ปลายตรง ” ก็จะเห็นในส่วนตรงนี้ และท่านยังเป็นพระนักพัฒนาที่ยอดเยี่ยม ท่านเป็นคนที่สร้างโบสถ์ด้วยมือของท่านเอง ในด้านวัตถุมงคลของท่านที่โดดเด่นก็คือตะกรุด พุทธคุณในด้านอยู่ยงคงกระพัน ว่ากันไว้ว่าถ้าคิดจะเป็นนักเลงก็หามาพกติดตัวไว้ได้เลย
พระสูตรคาถามหาอุต 
ระลึกถึงพระรัตนตรัยแล้วบริกรรมว่า
...นะมะอะอุ อะระหัง สุคะโต อะสังวิสุโลปุสะพุภะ อุทตะ ปิดติ อุทธัง อัทโธ นะเมติ ติเม เมติ ติเม เมติ ติเม เมติ นะอุท เออัท โอม สหับปิด ติเม พุทธังคงหนัง อะระหังคงเนื้อ เกสาโลมานักขาทันตาตะโจ ตรีเพชรคงๆ คงทั้งนั้ง คงทั้งยืน คงทั้งหลับ คงทั้งตื่น คงทั้งกลางวัน คงทั้งกลางคืน สาระพัดที่จะคงๆสวาหะ...
พระคาถานี้......รับมาจากพ่อชูคนเก่าแก่ระแวกบ้าน ท่านบอกว่าได้คาถานี้มาจากเสือเทิ้ม หรือ ตอนหลังคือหลวงพ่อเทิ้ม วัดฉาง ปทุมธานี
คาถานี้คาดการกันว่าเป็นคาถาสูตรของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ที่ได้แลกเปลี่ยนถ่ายทอดไว้ให้กับหลวงพ่อเปิง วัดชินวนาราม ปทุมธานี
หลวงพ่อเทิ้มท่านเป็นศิษย์สายหลวงพ่อเปิง วัดชินวนาราม วัดชินวนารามนี้เองที่ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะข่ามเฒ่า ชอบมาจำวัดและสนิทกับหลวงพ่อเปิงเป็นอย่างมาก หลวงพ่อเปิงเองเป็นพระมอญ คาถาต่างๆที่หลวงพ่อเปิงได้ถ่ายทอดให้ศิษย์ถ้าเป็นขอมท่านว่าเป็นวิชาของหลวงปู่ศุข ถ้าเป็นมอญเป็นวิชาของมหาเถรรามัญ



ภาพน้ำท่วมเมื่อปี ๒๕๕๔


ภาพน้ำท่วมเมื่อปี ๒๕๕๔


ภาพน้ำท่วมเมื่อปี ๒๕๕๔


ภาพน้ำท่วมเมื่อปี ๒๕๕๔


ภาพน้ำท่วมเมื่อปี ๒๕๕๔


ภาพน้ำท่วมเมื่อปี ๒๕๕๔


ภาพน้ำท่วมเมื่อปี ๒๕๕๔


ภาพน้ำท่วมเมื่อปี ๒๕๕๔

ต้นแบบพระพุทธรูป
พระพุทธสิริบุญสัคคาลัย แปลว่า 
พระพุทธเจ้าผู้ทรงสิริ ทรงเป็นที่พึ่งอาศัยแห่งทวยเทพบนสวรรค์ผู้มีบุญ


ญาณเตโชภิกขุ Update ๒๖ ก.ย.๕๙



[1] ปทุมธานี ;  เสรีอุ่นยวง ; พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2543 ;  บริษัท เลิฟแอนด์ลิพเพรส จำกัด ;  กรุงเทพฯ